การปลูกถั่วฝักยาวไร้ค้าง

ถั่วฝักยาวไร้ค้าง คือถั่วฝักยาวชนิดหนึ่งที่ ถูกปรับปรุงพันธุ์ การจนกระทั่ง ไม่จำเป็นต้องการ ใช้ค้างในการปลูก จุดประสงค์ที่สำคัญ ก็คือ ลดค่าใช้จ่าย ในส่วนของการ ทำค้างให้ถั่วฝักยาว และความสะดวก ในการปลูกถั่วชนิดนี้


ถั่วฝักยาวไร้ค้างพันธุ์ มข. 25 ได้รับการปรับปรุงขึ้นที่คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2525 โดยเกิดจากการผสมระหว่างถั่วพุ่มกับถั่วฝักยาว มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ มี ลำต้นตั้ง แข็งแรง ฝักยาว ไม่ต้องใช้ค้าง สามารถเจริญได้ดีในดินร่วนปนทราย อากาศร้อน ต้องการแสงแดด ส่องตลอดทั้งวัน ถ้าปลูกในร่มหรืออากาศ เย็นในเดือน กรกฎาคม ลำต้นจะเลื้อยเล็กน้อย สามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่การเจริญเติบโต จะหยุดชะงักเมื่ออากาศเย็น ถั่วนี้สามารถทนอากาศร้อน และแห้งแล้งได้ ดีกว่า ถั่วฝักยาวธรรมดา

การเตรียมดินปลูกถั่วฝักยาวไร้ค้าง

ดินที่เหมาะสม คือ ดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดี มีธาตุอาหารเช่น ฟอสฟอรัสและ โปแตสเซียม อยู่อย่างเพียงพอ มีระดับความเป็นกรด-ด่าง (พี.เอช) อยู่ระหว่าง 5-6.5 เตรียมดินเหมือนกับการปลูกพืชผักทั่ว ๆ ไป คือมีการไถตากดินทิ้งไว้เพื่อให้วัชพืชตายแล้วจึงไถพรวนให้ร่วนซุย
ก่อนการเตรียมดินครั้งสุดท้ายควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตรา 20 กก./ไร่ และใส่อีกครั้ง 10 กก./ไร่ เมื่อปลูกได้ 3 สัปดาห์ ถ้าดินเป็นกรดมากควรใส่ปูนขาวประมาณ 80 กก./ไร่ โดยหว่านก่อนการไถพรวน

การปลูกถั่วฝักยาวไร้ค้าง

ควรปลูกเป็นแถวเพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและเก็บฝักสด ใช้ระยะแถว 50 ซม. ระยะต้น 30 ซม. หยอดหลุมละ 1-2 เมล็ด แล้วถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น (ห้ามเอาไว้เกิน 1 ต้นเป็นอันขาด หลังจากปลูกได้ 15 วัน ถ้าไม่ถอนแยก จะทำให้ลำต้นไม่ ค่อยแข็งแรง และเมื่อมีลมพัดลำต้น จะเสียดสีกันทำให้เกิดแผลและเน่าตายในที่สุด)

อัตราเมล็ดพันธุ์และความลึกในการหยอดถั่วฝักยาวไร้ค้าง
- ถ้าปลูกระยะ 30×50 ซม. จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 3 กก./ไร่
- ถ้าปลูกระยะ 20×50 ซม. จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 3.5 กก./ไร่

ถ้าดินปลูกเป็นดินเหนียวควรปลูกตื้นกว่าดินทราย ถ้าดินมีความชื้นพอดีควรปลูกลึกประมาณ 2-3 ซม. ก็พอ ถ้าดินมีความชื้นต่ำ อาจปลูกลึก 3-5 ซม. จึงจะทำให้เมล็ดงอกได้ดี
การดูแลรักษาถั่วฝักยาวไร้ค้าง

การให้น้ำ จะให้น้ำก่อนปลูก หรือหลังปลูกก็ได้ อย่าให้น้ำจนเปียกแฉะเพราะอาจทำให้เกิดโรคโคนเน่า หรือรากเน่าได้ การให้น้ำแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับความชื้นในดิน ถ้าดินมีความชื้นอยู่ ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ

แมลงที่สำคัญ คือ เพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นพาหะนำโรคใบด่าง (ไวรัส) จะสังเกตได้ง่ายถ้าปรากฏว่ามีมดดำ หรือมดคันไฟ ไต่อยู่ในแปลงหรือตามต้นถั่วแสดงว่าเพลี้ยอ่อนจะเริ่มมา ให้รีบพ่นสารเคมีก่อนที่เพลี้ยอ่อนจะปรากฏ เพราะถ้าเพลี้ยอ่อนมาดูดน้ำเลี้ยงก็จะปลดปล่อยเชื้อไวรัสที่อยู่ในต่อมน้ำลายได้กับถั่วฝักยาว ทำให้ต้นพืชหยุดชะงักการเจริญเติบโต

การใส่ปุ๋ย
ควรใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่เมื่อเตรียมดินปลูก อัตรา 20 กก./ไร่ และครั้งที่ 2 ใส่เมื่อปลูกได้ 3 สัปดาห์ การใส่ครั้งที่ 2 ควรเปิดร่องห่างต้น 15-20 ซม. ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตรา 40 กก./ไร่ โดยโรยลงไปในร่อง แล้วกลบ พร้อมกับการกลบโคนถั่วฝักยาวไร้ค้าง เพื่อป้องกันต้นล้ม

การกำจัดวัชพืช
หลังปลูกให้ฉีดสารป้องกันวัชพืชแลสโซก่อนงอกจะป้องกันได้ 2-3 สัปดาห์ โดยใช้อัตรา 450 ซีซี ผสมน้ำ 60 ลิตร พ่นหลัง ปลูก ในขณะดินยังมีความชื้นอยู่ ส่วนการกำจัดวัชพืชหลังงอกให้ใช้การตายหญ้าด้วยจอบ ควรระวังอย่าให้จอบ หรือเครื่องมือ ที่ใช้ถูกลำต้น เพราะจะทำให้ลำต้นเป็นแผลและเน่าตายในที่สุด

การเก็บเกี่ยว
ถั่วฝักยาวไร้ค้าง สามารถเก็บฝักสดครั้งแรกได้ เมื่ออายุ 42-45 วัน หลังปลูกและจะเก็บได้เรื่อย ๆ ทุกๆ 5-7 วัน หลังจาก เก็บฝักสด ชุดแรก ควรพ่นสารป้องกันแมลงและหนอนมาเจาะทำลายต้นและดอกถั่วไร้ค้างสามารถเก็บผลผลิตได้ 3-4 ครั้ง เมื่อเก็บฝักหมดควรไถกลบ เพื่อให้เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้อีก

โรค-แมลงศัตรูที่สำคัญของถั่วฝักยาวไร้ค้าง

โรค ที่พบคือ โรคโคนเน่า และ ฝักเน่า การป้องกันใช้ เบนแลท อัตรา 6-8 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นพร้อมสาร ฆ่าแมลง หรือ ใช้คลุกเมล็ดก่อนปลูกก็ได้ อย่าให้แปลงมีน้ำหรือชุ่มมากเกิน
แมลง เพลี้ยอ่อน หนอนชอนใบ หนอนม้วนใบหนอนเจาะฝัก ทำความเสียหายอยู่เป็นระยะ ๆ ควรป้องกันตั้งแต่ถั่วอายุ 7-10 วัน ใช้อะไซดรินพ่นป้องกันเพลี้ยอ่อนและแมลง ต่าง ๆ หลังจากนั้นควรฉีดพ่นทุก ๆ 10-14 วัน ตามความจำเป็น เมื่อถั่วเริ่ม ออกดอกและพบว่ามีผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ลายน้ำตาลมาบินอยู่ในแปลงควรฉีดพ่นอีก 1 ครั้ง ก่อนเก็บเกี่ยวไม่ควรฉีดพ่นสารฆ่าแมลง หากจำเป็นต้องใช้ควรใช้สารประเภทถูกตัวตาย เช่น คาราเต้ แทน

การคัดเลือกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

เมื่อต้องการเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ ควรเลือกจากต้นที่มีลำต้นทรงพุ่มเป็นฝักยาวเพื่อเอาเมล็ดทำพันธุ์ปลูกต่อไป การปลูกเพื่อ เก็บเมล็ดพันธุ์ ควรปลูกในช่วงปลายสิงหาคม-กลางกันยายน จะได้เมล็ดพันธุ์ดีไม่เชื้อราเจือปน หรือช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ จะได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีและผลผลิตสูงกว่าปลูกฤดูอื่น ๆ

เมื่อเก็บมาแล้ว ควรตากแดด 3-4 แดด ให้แห้งสนิท ระหว่างที่ตากจะมีมอดมาวางไข่ไว้ตามผิวของเมล็ด ไข่จะมีสีขาว คล้าย จุดเล็ก ๆ ซึ่งฟักตัวกลายเป็นหนอนภายใน 24 ชั่วโมง ตัวหนอนจะเจาะกินเข้าไปในเมล็ด ดังนั้นหลังจากตากแดด จนแห้งสนิท ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารกันแมลง แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในถังที่มีฝาปิดมิดชิด หรือถุงพลาสติกปิดปากให้แน่น แล้วเก็บในที่ เย็นและมีอากาศแห้งต่อไป

ไปหน้าแรก เกษตรพอเพียง


บทความจาก http://www.vegetweb.com ภาพประกอบจาก http://www.nanagarden.com/ถั่วฝักยาวไร้ค้าง-106199-4.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Facebook Themes