วิถีที่พอเพียง ทางเลือกชาวบ้านดอกแดง


วิถีที่พอเพียง ทางเลือกชาวบ้านดอกแดง

เทศบาลตำบลสง่าบ้าน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีการบริหารงานครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ 1) ตำบลสง่าบ้าน มีพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 2,167 คน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะกับการเพาะปลูก ทำนา คนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา เลี้ยงโค 2) ตำบลป่าลาน เป็นตำบลที่ยุบสภาตำบลป่าลานรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลสง่าบ้าน เมื่อปี พ.ศ.2547 มีพื้นที่ประมาณ 1,912 ไร่ ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด 1,990 คน พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะกับการเพาะปลูก ทำนา คนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา แต่ต้องเช่าที่จากนายทุน หลังจากที่นายทุนกว้านซื้อที่นาไปในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ปี 2534

วิถีพอเพียงชาวบ้านดอกแดง

วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ นำไปสู่วิกฤตของชุมชน เกษตรกรต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการทำนา เนื่องจากต้องซื้อปุ๋ยเคมี และสารเคมีเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งมีต้นทุนสูง ส่งผลให้ระบบนิเวศรอบตัวเกษตรกร เริ่มเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ จากการปนเปื้อนของสารเคมี สัตว์เลี้ยงและสิ่งมีชีวิตในนาข้าวต้องตายลงจากสารเคมี ขณะที่เกิดโรคระบาดในนาข้าว ดินเสื่อมลงจากการใช้สารเคมี ในน้ำไม่มีปลา ในน้ำไม่มีข้าวเหมือนในอดีต ประกอบกับการรับวัฒนธรรมวัตถุนิยมเข้าไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้วิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชุมชนทั้งตำบลสง่าบ้านและตำบลป่าลาน จึงได้รวมกันเป็น กลุ่มเพื่อการผลิตเกษตรอินทรีย์ในหมู่บ้านดอกแดง เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยการถอดบทเรียนในพื้นที่ เปรียบเทียบสถานการณ์ในอดีตกับปัจจุบัน จนเห็นว่า ภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพและการทำมาหากินในชุมชนดั้งเดิมกำลังถูกลืมเลือนไป ด้วยคำว่า ง่ายและรวดเร็วดังการหันหน้าไปพึ่งสารเคมีในการเพาะปลูกทดแทนวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม และตั้งใจว่า จะนำชุมชนไปสู่วิถีการผลิตแบบดั้งเดิม หรือวิถีการผลิตแบบผสมผสาน เพื่อลดการใช้สารเคมี สร้างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ดังพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการเดินทางสาย หรือการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
ในการรวมกลุ่มเพื่อการผลิตเกษตรอินทรีย์ของชุมชนบ้านดอกแดง ตำบลสง่าบ้าน อำเภอดอยสะเก็ด ช่วงเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในโครงการ SML จำนวน 200,000 บาท ร่วมกับการรวมหุ้น การออม เพื่อกระตุ้นการผลิต และการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน จนชาวบ้านดอกแดงเริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการใช้จ่ายอย่างถูกวิธี รู้จักการเก็บออม และมีการทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

กลุ่มการผลิตบ้านดอกแดงดังกล่าว มีทั้งสิ้น 12 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (ปุ๋ยอินทรีย์-น้ำหมักชีวภาพ น้ำส้มจากควันไม้) กลุ่มรถเก็บเกี่ยวข้าว กลุ่มโรงสีข้าว กลุ่มข้าวซ้อมมือ กลุ่มผักปลอดสารพิษ พืชสวนครัวรั้วกินได้ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มจักสาน และกลุ่มเยาวชนดนตรีพื้นเมือง ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มต่างมีจุดมุ่งหมายของตนเองในการรวมตัวกัน มีการบริหารจัดการโดยใช้วัสดุและเวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตามคำแนะนำของกลุ่มองค์กร หน่วยงานภาครัฐ ที่เข้าไปหนุนเสริมตลอดเวลา

กลุ่มเกษตรกรทำนา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยการตั้งกลุ่มทำนาแบบธรรมชาติจากการร่วมระดมของคนในหมู่บ้าน ให้เป็นกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และยกระดับเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ช่วยลดต้นทุนการผลิต ช่วยต่อรองราคาค่าจ้างและผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง โดยมีเงินหมุนเวียนในระยะแรกเป็นจำนวนเงิน 10,500 บาท สำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ให้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ต่อมาได้จดทะเบียนนิติบุคคลในชื่อว่า กลุ่มทำนาตำบลสง่าบ้านปัจจุบัน มีสมาชิก 105 คน เงินทุนหมุนเวียน 149,857 บาท

กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2547 มีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 16 คน จนปัจจุบันมีสมาชิก 106 คน โดยมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งดังนี้ 1) เพื่อ ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาประกอบอาชีพการเกษตรแบบอินทรีย์ 2) เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพการเกษตร โดยลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรจากการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง 3) เพื่อแก้ไขปัญญาการว่างงาน โดยการจ้างแรงงานในพื้นที่ 4) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชุมชน สำหรับผู้มีรายได้น้อยและไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จปฐ. 5) เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป 6) เพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน

กลุ่มรถเก็บเกี่ยวข้าว สืบเนื่องจากการจัดตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพ และได้ดำเนินการผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในการเกษตรตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นมา ทำให้กลุ่มมองต่อถึงความสำคัญของวิทยาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ที่มีผลต่อการสูญเสียผลผลิตข้าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาการเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้า จากการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร และรถเก็บเกี่ยวข้าวเข้าไปรับจ้างเก็บเกี่ยวในเวลาที่ไม่สมควร จึงเกิดการพิจารณาโครงการจัดชื้อรถเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บเกี่ยวผลผลิต ลดปัญหาการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร ช่วยกระจายรายได้จากการจ้างงาน

กลุ่มโรงสีข้าว จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชน โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรโดยการแปรรูปผลผลิตข้าว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการผลิตข้าวขาวและข้าวอินทรีย์ชีวภาพ ช่วยให้เกิดการจ้างงานในหมู่บ้านด้วยกิจกรรมโรงสีข้าว หวังเสริมสร้างความสามัคคี จากการทำงานเป็นทีมของชุมชน รวมทั้ง เชื่อมโยงด้วยโครงการทำปุ๋ยชีวภาพ และโครงการจัดซื้อรถเกี่ยวข้าว เนื่องในวโรกาสฉลองการครองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ตลอดจนให้บริการสีข้าวแก่สมาชิกชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ

กลุ่มข้าวซ้อมมือ เกิดขึ้นจากการเห็นความสำคัญของข้าว ที่เป็นอาหารหลักของคนไทย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ด้วยกระบวนการผลิตทำให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการไปอย่างมาก จึงเห็นร่วมกันให้นำมาผลิตเป็นข้าวซ้อมมือ เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการให้มากที่สุด ให้อุดมด้วยวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในชุมชน เสริมสร้างรายได้ ส่งเสริมสุขภาพ และเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้


กลุ่มแม่บ้าน เริ่มจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของกลุ่มสตรีแม่บ้าน เพื่อดำเนินกิจกรรมทางศาสนาของวัดและกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้าน เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ต่อมาได้ร่วมกันผลิตสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น นำยาล้างจาน และน้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว และจัดจำหน่าย เพื่อเป็นรายได้เสริมของกลุ่มแม่บ้าน

กลุ่มผู้สูงอายุ แต่เดิมมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในรูปศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้านเดิม ต่อมาพัฒนาเป็นชมรมผู้สูงอายุบ้านดอกแดง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมกลุ่มกันออกกำลังกายในตอนเช้า ในรูปแบบของการรำมวยจีน กระบี่กระบอง และรำพัด ต่อมาได้มีการร่วมกันจักสานหวาย เพื่อสร้างรายได้และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ตั้งอยู่ที่อาคารโรงเรียนดอกแดงรัฐราษฎรอุปถัมภ์ มีสมาชิกทั้งหมด 16 คน มีผู้ถือหุ้น 25 คน จำนวน 400 หุ้นๆ ละ 10 บาท แรกเริ่มเดิมที นางศรีพรรณ แก้วตา ประธานกลุ่ม ประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ามาก่อนในรูปอุตสาหกรรมในครัวเรือน ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น รองเท้าใส่ในบ้าน เบาะรองนั่ง ที่นอนปิกนิก ผ้าเช็ดมือ ผ้ากันเปื้อน เป็นต้น ผ่านไป 16 ปี ต้องประสบกับปัญหาสุขภาพไม่แข็งแรง ประกอบกับความต้องการให้เพื่อนบ้านมีรายได้เสริม สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัว และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านเป็นกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า การดำเนินงานในระยะแรกยังขาดแคลนเครื่องจักร อุปกรณ์และวัตถุดิบในการผลิต เช่น จักรอุตสาหกรรม จักโพล้ง เครื่องตัด แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลสง่าบ้าน (ยกระดับเป็นเทศบาลในภายหลัง) จำนวน 30,000 บาท เพื่อจัดซื้อจักรอุตสาหกรรม จำนวน 4 หลัง จักรโพล้ง 1 หลัง ปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจ้างทำเป็นรายชิ้น ตามแบบที่ทำขึ้น

นอกเหนือจากตัวอย่างกลุ่มต่างๆ ดังกล่าว บ้านดอกแดงยังเป็น ศูนย์ยุติธรรมนำร่อง จากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 23 กันยายน โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อให้ผู้นำชุมชนเข้าใจถึงความหมายและวิธีการดำเนินการของยุติธรรมชุมชน 2) เพื่อให้คนในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสันติสุข 4) เพื่อเสริมสร้างความรู้ พัฒนาอาชีพของคนในชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และป้องกันยาเสพติด

ปัจจุบันชุมชนบ้านดอกแดงเป็นชุมชนตัวอย่าง และชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จากการบริหารการจัดการที่เป็นระบบ มีการนำเอาทรัพยากรในท้องถิ่นมาปรับใช้ในการผลิต สร้างรายได้ ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน รวมทั้งมีการฟื้นสภาพสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ขึ้น ตลอดจน ได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ

รางวัลชนะเลิศ หมู่บ้านเข้มแข็ง สุขภาพแข็งแรง แบบมีส่วนร่วม ระดับอำเภอ ประจำปี 2549และ 2550

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 การประกวดข้าวหอมมะลิ จังหวัดเชียงใหม่ 2548/49

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 การประกวดข้าวหอมมะลิ จังหวัดเชียงใหม่ 2538/39

รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุขประจำปี 2551 (รองชนะเลิศอันดับ 2)

รางวัลหมู่บ้านและชุมชนดีเด่น ตามโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชน (SML) ปี 2548

จากความสำเร็จดังกล่าว เทศบาลตำบลสง่าบ้านจึงได้จัดซื้อที่ดินให้กับ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านดอกแดง จำนวน 3 ไร่ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมแหล่งผลิตกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอดอยสะเก็ด และในอนาคตภาคส่วนต่างๆ จะร่วมกันพัฒนาให้เป็น ศูนย์การเรียนรู้ที่ครบวงจรและเป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์การศึกษาของคนทั้งตำบล เป็นพื้นที่เอกลักษณ์ที่สื่อถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น การนำเอาทรัพยากรในชุมชนมาใช้ให้ประโยชน์ การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ตลอดจนสามารถขยายฐานความรู้ไปในระดับอำเภอและจังหวัด และสามารถสร้างฐานเศรษฐกิจจากการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น

นับได้ว่า บ้านดอกแดง เริ่มจากฐานการทำงานภายใต้ระบบเครือญาติ โดยเอาปัญหาเรื่องปากท้องมาเป็นปัญหาหลักภายในชุมชน แล้วค่อยๆ ช่วยเหลือกันมาตามความสมัครใจ จนสามารถเป็นแบบอย่างของการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีของการอยู่อย่างพอเพียงได้


กัญญา อ่อนศรี แบบอย่างเศรษฐกิจพอเพียง


กัญญา อ่อนศรี แบบอย่าง เศรษฐกิจพอเพียง

กัญญา อ่อนศรี เป็นธิดาคนโตจากพี่น้อง ๔ คนของคุณพ่อเสมือน และคุณแม่สมิน ระบือนาม ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๒๔ หมู่ ๑๐ บ้านทัพไทย ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากนั้นกัญญาได้ออกมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม 

กัญญา อ่อนศรี

กระทั่งย่างเข้าสู่วัยสาว กัญญาก็มีความฝันเช่นเดียวกับหญิงสาวชนบทโดยทั่วไป พอหมดหน้านา กอปรกับความแห้งแล้งของชนบทในครั้งนั้น ทำให้เธอต้องมุ้งหน้าสู่เมืองหลวง เพื่อหารายได้และเพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเอง โดยในช่วงปี ๒๕๒๙ กัญญาได้เข้าไปเป็นคนฝึกหัดทำครัว แถวๆ ยานนาวา ซึ่งนี่เองทำให้เธอได้ฝีมือในการทำอาหารมาช่วยพี่น้อง ผองเพื่อนในหมู่บ้านเนื่องในเทศกาลงานบุญต่างๆ

ทำได้ปีสองปี ถึงฤดูทำนา กัญญาก็กลับมาช่วยครอบครัวทำนาอีกคำรบหนึ่ง และพอหมดหน้านาในครานี้ เธอได้กลับไปเป็นสาวโรงงานที่บริษัทสุรพล ซีฟู้ต ย่านสมุทรปราการ และได้พบรักกับสุนทร อ่อนศรี ชายหนุ่มจากราชบุรี ปี ๒๕๓๓ ทั้งคู่ได้ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน โดยกลับมาแต่งงานที่บ้านเกิดของเธอ หลังจากนั้น ก็ได้กลับไปทำงานเป็นสาวโรงงานเช่นเดิม เพื่อหาทุนรอนสำหรับกลับมาทำงานอยู่ที่บ้านเกิด ส่วนสามีก็ทำงานเป็นคนขับรถอยู่ที่เดียวกันหลังจากเก็บเงินเก็บทอง ได้ตามที่ตั้งใจ ปี ๒๕๓๖ กัญญาและสามีได้กลับมาปักหลักยึดอาชีพเดิมของบรรพบุรุษอยู่ที่บ้านเกิดจังหวัดสุรินทร์

กัญญา อ่อนศรี

สู่วิถีเกษตรธรรมชาติ

แรกๆ นั้นครอบครัวของกัญญาก็ทำนาเชิงเดี่ยวเช่นเดียวกับเพื่อนบ้าน แต่ความที่บิดาเป็นคนขยัน ในแปลงนาก็เลยมีพืชผักสวนครัวไว้สำหรับรับประทาน อีกประการหนึ่ง สามีของเธอเป็นคนราชบุรี แม้ไม่เคยทำสวนแต่ก็เคยได้เห็นการทำไร่ทำสวนของเพื่อนบ้านมาบ้าง เลยมีแนวคิดว่า น่าจะหาอะไรมาปลูกเสริมในช่วงที่ไม่ได้ทำนา ช่วงปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ ทั้งคู่ได้ทดลองปลูกพืชเสริมในช่วงหน้าแล้ง โดยลงถั่ว, ถั่วฝักยาวและข้าวโพด ปรากฏว่าได้ผลผลิตอย่างน่าพอใจ และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากนั้นเป็นต้นมา กัญญาไม่มีความคิดที่หวนกลับสู่เมืองหลวงอีกเลย กลับมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผืนที่นาเพื่อสร้างผลผลิตในทุกฤดูกาล

ไม้ผลต่างๆ จึงมีหมุนเวียนเก็บกินได้ตลอดปี เช่น มะม่วง ฝรั่ง มะขาม มะพร้าว กระท้อน ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว พืชผักสวนครัวจำพวก พริก มะเขือ หอม กระเทียม ยี่หร่า ขิง ข่า ตะไคร้ คะน้า ผักกาด ฯลฯ ก็ไม่ต้องไปซื้อหามารับประทานเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เธอยังต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกอยู่ อาทิ ยากำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี การที่กัญญาได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในเรื่องเกี่ยวกับบทบาทหญิงชายกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เธอมีโอกาสได้เข้ารับการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ เธอมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเกษตรธรรมชาติที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในปี ๒๕๔๒ กัญญาได้ตัดสินใจเลิกใช้จำพวกสารเคมีเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี หรือยากำจัดศัตรูพืช

เข้าร่วมโครงการ

ปี ๒๕๔๔ กัญญาได้เข้าร่วมโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนรายย่อยภูมินิเวศน์สุรินทร์ โดยมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการราว ๑๕ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรมาก่อนหน้าแล้ว การที่ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ นั้น ทำให้ได้รับแนวคิดเรื่องการทำเกษตรแบบยั่งยืนหรือเกษตรแนวธรรมชาติมากขึ้น และการที่กัญญาได้เข้าร่วมกิจกรรมบ่อยครั้ง ทำให้ประสบการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานของตนเอง ไม่ว่าบทบาทของหญิงชายในสังคมหรืองานด้านเกษตรกรรม กัญญาผสานสิ่งเหล่านี้เพื่อมาปรับใช้กับตนเองอย่างลงตัว

นอกจากความรู้ทางวิชาการที่ได้รับทั้งนักวิชาการ จากกลุ่มเพื่อนเกษตรกรในโครงการเดียวกันแล้วแล้ว การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการศึกษาดูงานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ให้เกิดองค์ความรู้ในการที่จะนำมาพัฒนาพื้นที่ของตนเอง อีกส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ คือ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตอีกหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสนับสนุนการขุดสระการสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสัตว์และทำปุ๋ยหมัก

ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมของกัญญา ไม่เคยว่างเว้นจากผลผลิต หมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เธอและครอบครัวก็ช่วยกันลงถั่วเขียว, ถั่วฝักยาว, ข้าวโพด หรืออื่นๆ บ้างแล้วแต่ฤดูกาล ส่วนไม้ผลต่างๆ ที่ปลูกไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมโครงการผสานกับที่เพิ่งลง ก็ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ นอกจากจะบริโภคสำหรับครอบครัวแล้ว ที่เหลือก็นำไปขายเพิ่มรายได้ในอีกทางหนึ่ง ประสบการณ์ต่างๆ ที่กัญญาได้รับมาจากการเรียนรู้ภายนอกและการค้นพบเอง เธอก็นำมาถ่ายทอดเล่าสู่หมู่เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เช่น เรื่องการทำและใช้น้ำหมักชีวภาพ, การปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ รวมไปถึงการจัดการกลุ่มองค์กรเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง อย่างไรก็ดี อุปสรรคและปัญหาต่างๆ ก็ย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา การที่กัญญาต้องออกไปร่วมประชุมสัมมนาบ่อยครั้งในแต่ละสัปดาห์ ทำให้มีเวลาในการจัดการแปลงน้อยลงบ้าง

สร้างโรงเรียนให้ลูก

แต่กระนั้น สิ่งที่ทำลงไปก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กัญญาและครอบครัว คือ เธอได้สร้างโรงเรียนชีวิตให้กับลูกคนโตของเธอ ชนิษฐาหรือ น้องวันดีการปลูกฝังวิถีชีวิตเกษตรแบบเรียบง่าย และสร้างวินัยให้กับลูกไปแบบไม่รู้ตัว ทุกๆ เช้า วันดีจะเก็บผลผลิตในสวนใส่ตะกร้าไว้ท้ายจักรยาน ถีบเร่ขายในหมู่บ้านก่อนไปโรงเรียน จนเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของคนในหมู่บ้านและทุกๆ วันเสาร์ที่ตลาดนัดสีเขียวเทศบาลเมืองสุรินทร์ วันดีก็จะนำผลผลิตไปขายให้คนเมืองได้ซื้อหารับประทานผักไร้สาร อยู่เป็นประจำ

ต้นปี ๒๕๔๕ สิ่งที่กัญญาและวันดีได้ทำไปนั้น ได้กลายเป็นตัวอย่างที่สวยสดงดงาม ถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนในรายการ ทุ่งแสงตะวันซึ่งถือว่าเป็นรายการสารคดีเกี่ยวกับเด็กที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย กัญญาเล่าให้ฟังว่า วันที่ออกอากาศนั้น คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ที่มานั่งดูด้วยกันถึงกับนั่งน้ำตาซึมด้วยความภาคภูมิใจ ที่ลูกหลานได้ทำสิ่งดีๆ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของหมู่บ้าน ส่วนลูกชายคนเล็กของเธอที่เพิ่งอายุไม่กี่ขวบ ก็เริ่มช่วยเธอรดน้ำต้นไม้ได้แล้ว วิถีเกษตรธรรมชาติที่กัญญาและครอบครัวได้ร่วมสร้างกันมานั้น หาได้เกิดในชั่วข้ามคืนไม่ หากเกิดจากความมุมานะ ตั้งใจ จนกลายเป็นแบบอย่างที่ดีงามของคนในชุมชนและสังคมเกษตรกรรมในวงกว้าง


เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฏีใหม่


เศรษฐกิจพอเพียง  เกษตรทฤษฏีใหม่

เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด รวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ทางสายกลาง คำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ

เศรษฐกิจพอเพียง



การปฏิบัติตามเศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงสำหรับเกษตรกร ตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ ทฤษฎีใหม่” 3 ขั้น คือ

ขั้นที่หนึ่ง มีความพอเพียง เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัด ขจัดการใช้จ่าย

ขั้นที่สอง รวมพลังกันในรูปกลุ่ม เพื่อทำการผลิต การตลาด การจัดการ รวมทั้งด้านสวัสดิการ การศึกษา การพัฒนาสังคม ฯลฯ

ขั้นที่สาม สร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพและขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หลากหลาย โดยประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจ

ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคราชการ ในด้านเงินทุน การตลาด การผลิต การจัดการ และข่าวสารข้อมูล นัยสำคัญของแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก เป็นระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือหลักการที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนโดยมุ่งเน้นการผลิตพืชผลให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรกเมื่อเหลือพอจากการบริโภคแล้ว จึงคำนึงถึงการผลิตเพื่อการค้าเป็นอันดับรองลงมา ผลผลิตส่วนเกินที่ออกสู่ตลาดก็จะเป็นกำไรของเกษตรกร ในสภาพการณ์เช่นนี้เกษตรกรจะกลายสถานะเป็นผู้กำหนดหรือเป็นผู้กระทำต่อตลาด แทนที่ว่าตลาดจะเป็นตัวกระทำหรือเป็นตัวกำหนดเกษตรกรดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และหลักใหญ่สำคัญยิ่ง คือ การลดค่าใช้จ่าย โดยการสร้างสิ่งอุปโภคบริโภคในที่ดินของตนเอง เช่น ข้าว น้ำ ปลา ไก่ ไม้ผล พืชผัก ฯลฯ

ประการที่สอง เศรษฐกิจแบบพอเพียงให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านหรือองค์กรชาวบ้านจะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการเกษตรแบบผสมผสาน หัตถกรรมการแปรรูปอาหาร การทำธุรกิจค้าขาย และการท่องเที่ยวระดับชุมชน ฯลฯ เมื่อองค์กรชาวบ้านเหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง และมีเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้นแล้วเกษตรกรทั้งหมดในชุมชนก็จะได้รับการดูแลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับการแก้ไขปัญหาในทุก ๆ ด้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะสามารถเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสามารถขยายตัวไปพร้อม ๆ กับสภาวการณ์ด้านการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น

ประการที่สาม เศรษฐกิจแบบพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีความเมตตา ความเอื้ออาทร และความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนในการร่วมแรงร่วมใจเพื่อประกอบอาชีพต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจึงมิได้หมายถึงรายได้แต่เพียงมิติเดียว หากแต่ยังรวมถึงประโยชน์ในมิติอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ การสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน ความสามารถในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทยให้คงอยู่ตลอดไป

ที่มาของการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

ประเทศไทย เป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้นฝนตกค่อนข้างชุก มีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ประมาณ 1,500 มิลลิเมตร และมีฤดูฝนนานประมาณ 5 - 6 เดือน ในอดีตเมื่อป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ น้ำฝนส่วนหนึ่งจะถูกดูด ซับไว้ในป่า ส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่ใต้ดินอีกส่วนหนึ่งจะถูกเก็บกักไว้ตามที่ลุ่ม เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ตามธรรมชาติ ส่วนที่เหลือจะระเหยสู่บรรยากาศและไหลลงสู่ลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ และออกสู่ทะเล น้ำที่ถูกเก็บกักไว้ในป่า และในแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้จะค่อยๆ ไหลซึมซับออกมาทีละน้อยตลอดปี ส่วนที่ขังอยู่ในหนอง คลอง บึง และแอ่งน้ำต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในช่วงฤดูแล้ง

ต่อมาระบบนิเวศน์เปลี่ยนไปป่าไม้ถูกทำลายถูกถากถางเพื่อการเกษตรและกิจกรรมต่างๆ ห้วย หนอง คลอง บึงสาธารณะจะตื้นเขิน และถูกบุกรุกเข้าถือครองกรรมสิทธิ์ บริเวณทางระบายน้ำออกสู่ทะเลตามธรรมชาติถูกใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคาร ถนน ทางรถไฟ บ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และอื่น ๆ เมื่อฝนตกลงมาน้ำไหลสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีที่เก็บกัก แต่เมื่อกระทบสิ่งกีดขวางก็ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรง เมื่อน้ำท่าไหลลงทะเลหมดและไม่มีน้ำจากป่ามาเติม แหล่งน้ำตามธรรมชาติก็เหือดแห้ง จึงทำให้เกิดแห้งแล้งและขาดน้ำอุปโภคบริโภคอยู่เสมอ

เกษตรกรที่อยู่ในสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่ในเขตใช้น้ำฝนจึงได้รับความเดือดร้อน ผลิตผลเสียหายเป็นประจำและไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานไปหารายได้ในเมืองใหญ่ และเกิดปัญหาด้านสังคมตามมา

นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อปีพุทธศักราช 2489 เป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จแปรพระราชฐานและเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรทั่วราชอาณาจักรเรื่อยมา พระองค์ได้ประสบกับสภาพดิน ฟ้า อากาศและภูมิประเทศในภูมิภาคต่างๆ และทอดพระเนตรความทุกข์ยากแร้นแค้น ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วประเทศด้วยพระองค์เอง ทรงตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้อย่างถ่องแท้ และได้ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไข เพื่อบรรเทาปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ โครงการอนุรักษ์ ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดต่างๆ จำนวนมาก สำหรับในด้านการพัฒนาอาชีพของประชาชนในชนบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานแนวทางครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ.2532 ซึ่งต่อมาประชาราษฎร์ได้รู้จักกันอย่างดีในนามเกษตร "ทฤษฎีใหม่"

แนวทางการพัฒนาชีวิตและอาชีพตามแนวทฤษฎีใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทาน พระราชดำริไว้ 3 ขั้นคือ ขั้นที่ 1 การผลิต ขั้นที่ 2 การรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ และขั้นที่ 3 การร่วมมือกับแหล่งเงิน (ธนาคาร) และกับแหล่งพลังงาน

ครูบาคำเดื่อง ภาษี ต้นแบบเกษตรประณีต พึ่งธรรมชาติ พึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น


ครูบาคำเดื่อง ภาษี : ต้นแบบเกษตรประณีต พึ่งธรรมชาติ พึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น
ครูบาคำเดื่อง ภาษี

ครูบาคำเดื่อง ภาษี จากบ้านโนนขวา จ.บุรีรัมย์
ปราชญ์จากอีสาน ต้นแบบการทำเกษตรประณีต หนึ่งไร่ ปลูกต้นไม่ที่กินได้ เป็นยาได้ สร้างบ้านเรือนในอนาคตได้ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำอาหาร สร้างชีวิตที่พอเพียงบนที่ดินเพียง 1 ไร่ โดยไม่ใช้สารเคมี เน้นการปรับแนวคิดใหม่ จากพึ่งพาตลาด พึ่งทุน พึ่งความรู้ภายนอก สู่การพึ่งพาตนเอง พึ่งพาธรรมชาติ ย้อนกลับสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปรับชีวิตให้พออยู่ พอกิน และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง โรงเรียนชุมชนอีสาน ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๙ เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่เพื่อนเกษตรกรตามแบบ ชาวบ้านสอนชาวบ้าน ด้วยตระหนักว่า “กางร่มคนเดียวในทะเลทราย” เป็นไปไม่ได้
“ เพราะดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมแล้วไม่สามารถทำให้พึ่งพาตนเองได้ และได้ทำลายต้นทุนทางธรรมชาติอย่างย่อยยับโดยไม่รู้ตัว สังคมล่มสลาย ครอบครัวแตกแยก หมดศักดิ์ศรีความเป็นคน ขาดความเป็นไท(อิสระ) กลายเป็นทาสเงินทั้งประเทศ ทำให้หันมาเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมั่นในมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ว่าสามารถพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองดังพระพุทธพจน์ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ เพราะถึงแม้เกิดวิกฤต โลกจะเจ๊ง เศรษฐกิจจะล่ม น้ำมันจะแพง ผู้คนจะอดอยากขาดแคลน ฯลฯ เราก็จะไม่มีทางเดือดร้อนไปตามวิกฤตต่าง ๆ ล้านเปอร์เซ็นต์”
ที่มา : http://www.ise.in.th/khorkhon002.php

งานมหกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ จัดอย่างยิ่งใหญ่

พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ เตรียมจัดงานมหกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรักเรา “ก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง” อย่างยิ่งใหญ่ในรอบปี  เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการเกษตร  พร้อมเปิด  3 อาณาจักรมหัศจรรย์แหล่งรวมองค์ความรู้เพื่อก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง และอบรมวิชาของแผ่นดินฟรีกว่า 30 หลักสูตร ระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2556 นี้
งานมหกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง

นางจารุรัฐ   จงพุฒิศิริ    ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยเฉพาะในด้านการเกษตร  เพื่อบรรเทาปัญหาต่างๆที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่  โดยเฉพาะแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วว่า สามารถนำพาสังคมไทยให้รอดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๘๕ พรรษาและสร้างเสริมความเคารพเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์  การสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตรนำไปสู่การขยายผลองค์ความรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น  พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ    เตรียมจัดงานยิ่งใหญ่ในรอบปีภายใต้ชื่อ  มหกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรักเรา “ก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง” ระหว่าง 25- 29   มกราคม 2556  ณ  พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 
นางจารุรัฐกล่าวถึงกิจกรรมที่สำคัญภายในงานประกอบด้วย อาณาจักรมหัศจรรย์ “ในหลวงรักเรา” ชมการจัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่ทรงงานเพื่อคนไทยด้วยความรักที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ต้นแบบน้อมนำคำพ่อสอน เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ที่ได้น้อมนำพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติจนเกิดผล วิถีเกษตรไทย เกษตรโลก นวัตกรรมการเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง สนุกสุดใจในห้องมหัศจรรย์แห่งท้องทุ่งด้วยเทคโนโลยีทันสมัย “โฮโลแกรม   3 มิติ” ชมภาพยนตร์ 3 มิติเรื่องใหม่ “แผ่นดินของเรา”
อาณาจักรมหัศจรรย์ “นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง” รวบรวมสุดยอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ชุมนุมพลังงานทางเลือกสู่อนาคตอย่างมั่นคงกว่า 60 องค์ความรู้ ทำเองได้ ง่าย ประหยัด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาทิ โซลาร์เซลล์ต้นทุนต่ำ จักรยานสีข้าว-ผลิตไฟฟ้า รถตู้ใช้น้ำมันพืช กังหันลมต้นทุนต่ำ กังหันน้ำพื้นบ้าน พลังงานชุมชน 4 ภาค  นวัตกรรมพลังงานฝ่าวิกฤติพลังงานและโลกร้อน ความมั่นคงเกษตรเมือง การสร้างบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติ บ้านดิน บ้านฟาง การแปรรูปสมุนไพรเพื่อความงามและสุขภาพในบ้านสปา บ้านสมุนไพร บ้านน้ำมันหอมระเหย ฯลฯ

และอาณาจักรมหัศจรรย์เกษตรตามรอยพ่อ “ชุมชนมั่นคง” รวมพลเกษตรกรผู้น้อมนำคำพ่อสอน  รู้จริง  ทำจริง จากความรู้ที่ผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างเป็นพื้นฐานชีวิตสู่ความมั่นคงด้วย ข้าว ปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค สะสมทุน พลังงานไร้ฤดู เรียนรู้การปลูกผักคุณภาพในโรงเรือนการขยายพันธุ์พืช เกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ 1 ไร่  1 แสนบาท  ฐานเรียนรู้สุขภาพวิถีไทย เกษตรธาตุ 4 การปรับปรุงดินโดยใช้ทฤษฏีแกล้งดิน เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ การแปรรูปข้าวและการผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจร การสร้างบ้านจากไม้ไผ่  กองทุนสัจจะสะสมทรัพย์และเครือข่ายคนฮักป่า รวม 16 ฐานเรียนรู้

นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนาวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ ไก่ไทยเจ้าไปไหนมา บัดนี้เจ้ากลับมาสร้างมูลค่าให้แผ่นดิน เกษตรเมือง วิถีความมั่นคงของเมือง เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน หัวใจความมั่นคงทางอาหาร ชุมชนชนบทกับการรับมือสภาวะโลกร้อน อบรมวิชาของแผ่นดินฟรี  14 หลักสูตร การสาธิตและ workshop ฟรี 16 หลักสูตร กิจกรรมฝึกสมาธิ พัฒนาจิตใจ เพื่อชีวิตที่มั่นคง กิจกรรมเสริมอาชีพตามซุ้มนิทรรศการของแต่ละหน่วยงาน ตลาดนัดสินค้าดีสี่ภาค สาธิตการทำอาหารจากผลิตภัณฑ์ไก่ น้ำมันเหลือง  ยาหม่องไพล แชมพูมะกรูด ผลิตภัณฑ์สปาสำหรับผิวหน้า ครีมมะขาม ผงขัดหน้าเด้ง น้ำมันนวดเท้า สมุนไพรแช่เท้า สาธิตการทำเครื่องหอม น้ำปรุง แป้งหอม

รวมถึงการเสวนากลุ่มย่อยประเด็นร้อน รับมือวิกฤตโลกร้อน การแสดงสาระบันเทิง ดนตรี และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน สืบสานวัฒนธรรมการทำขวัญข้าว ขวัญควาย กตัญญูรู้คุณข้าว คุณควาย เป็นมิ่งขวัญชาวนาไทยโดยนายขวัญชัย รักษาพันธ์ ปราชญ์ชาวบ้านเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ และแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ซึ่งกิจกรรมเรียนรู้ภายในงาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้จริง เพื่อก้าวสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง
             
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ในระหว่างวันที่  25- 29  มกราคม  2556 ตั้งแต่เวลา 10.00   – 20.00 น.  ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถนนพหลโยธิน ตรงข้ามโรงพยาบาลนวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สอบถามรายละเอียดได้ที่     0-2529-2212-13 www.wisdomking.or.th

วิถีเกษตร "ขวัญใจ แก้วหาวงศ์" ขยายผล "ทฤษฎีใหม่" สู่ชุมชน

วิถีเกษตร "ขวัญใจ แก้วหาวงศ์" ขยายผล "ทฤษฎีใหม่" สู่ชุมชน

ขวัญใจ แก้วหาวงศ์

แม้จะจบแค่ ป.6 แต่เกษตรกรคนเก่งแห่งภูพานอย่าง "ลุงขวัญใจ แก้วหาวงศ์" วัยใกล้ 60 ปี หัวหน้าศูนย์เกษตรพอเพียงตามแนวพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยปุ บ้านเหล่านกยูง ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร ก็ไม่เคยย่อท้อในการศึกษาหาความรู้เรื่องราวดีๆ ด้านการเกษตร ภายในศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในสวนเกษตรใกล้บ้าน ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 20 ไร่เศษ ที่ปัจจุบันถูกแปลงเป็นสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ประกอบด้วยพื้นที่นา 14 ไร่ สระน้ำ 2 ไร่ ไม้ผลและกล้วย 2 ไร่ ปลูกพืชผักต่างๆ หลังฤดูทำนา อาทิ แตงกวา ฟักทอง ถั่วฝักยาว 2 ไร่ ปลูกอ้อย 2 ไร่ เลี้ยงกบแม่พันธุ์ 200 ตัว เลี้ยงผึ้งชันโรงและเลี้ยงไก่พื้นเมือง เป็ดเทศและไก่ดำอีก 35 ตัว


 "แต่ก่อนพื้นที่ตรงนี้กันดารมาก ไม่มีน้ำ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น พอดีช่วงนั้นศูนย์ภูพานเขาเปิดอบรมงานด้านการเกษตรก็เลยไปลองดู ก็รู้สึกดีมากๆ มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนเลยนำมาทดลองทำที่บ้าน เริ่มจากการฟื้นฟูดิน นำพืชผักมาปลูก โดยยึดรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระองค์ท่าน เมื่อสงสัยหรือปัญหาอะไรก็สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของศูนย์ถ้ามีเวลาก็เข้าไปดูของจริงที่ศูนย์เลย"

ลุงขวัญใจ เผยที่มากว่าจะถึงวันนี้ ปัจจุบันสวนเกษตรแห่งนี้ทำรายได้ให้เจ้าของสวนไม่ต่ำกว่าวันละ 400-500 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 25,000-30,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและฤดูกาลให้ผลผลิตของพืชผักชนิดนั้นๆ ด้วย โดยเฉพาะอ้อย ขณะนี้ที่ลุงนำมาคั้นเป็นน้ำอ้อยสดตระเวนจำหน่ายไปทั่ว จ.สกลนคร สนนในราคาขวดละ 40 บาท โดยอ้อย 1 ลำจะคั้นได้น้ำ 1 ขวด ทั้งยังจำหน่ายท่อนพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรที่สนใจอีกด้วย

นับเป็นเกษตรกรต้นแบบแห่งภูพานในการนำความรู้แนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่จากศูนย์ภูพานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในผืนที่ทำกินของตัวเอง จนวันนี้สวนเกษตรของลุงขวัญใจได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อให้คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในที่ดินทำกินของตัวเองต่อไป
       

ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ปราชญ์แห่งเกษตรอินทรีย์


ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ปราชญ์แห่งเกษตรอินทรีย์ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดต้นทุนการผลิต
ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ปราชญ์แห่งเกษตรอินทรีย์

เป็นปราชญ์ชาวบ้านตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติหลายรางวัลติดเต็มฝาบ้าน ล้วนการันตีถึงความวิริยอุตสาหะ ถือเป็นบุคคลตัวอย่างด้านการอนุรักษ์ และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง
นายทองเหมาะ แจ่มแจ้ง วัย 63 ปี ชาวบ้าน ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี หรือที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกสั้น ๆ ว่า “ลุงทองเหมาะ” เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งก่อนที่จะมาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นเจ้าของศูนย์ปราชญ์ หรือสถาบันพัฒนาการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านใกล้เคียง และเป็นที่รู้จักของเกษตรกรส่วนใหญ่ทั่วประเทศในขณะนี้ว่า ก่อนที่จะพบทางสว่างนี้ เคยทำอาชีพมาหลายอย่าง ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพทางการเกษตรแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพชาวไร่อ้อย ชาวไร่มันสำปะหลัง เลี้ยงปลา และชาวนา ว่ากันว่าทุกสิ่งที่สรรค์สร้างล้วนแต่เป็นเรื่องของเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกอย่างเดียวชนิดเดียวล้วน ๆ และส่วนใหญ่ก็ เน้นในเรื่องของการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ที่คิดเพียงอย่างเดียวว่าจะช่วยเร่งให้มีผลผลิตเร็วและได้ผลดีคุ้มกับการลงทุน แต่แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของพ่อค้าหัวใสเท่านั้น เพราะสิ่งที่ได้รับไม่คุ้มกับการลงทุน ลุงบอกว่า ยิ่งทำยิ่งจน เพราะคนที่เขากำหนดราคาทั้งปุ๋ยเคมี และสารเคมีต่าง ๆ โดยเฉพาะยาปราบศัตรูพืช คือ พ่อค้าไม่ใช่เกษตรกร และผลผลิตที่สามารถผลิตได้ เกษตรกรก็ยังไม่สามารถกำหนดราคาได้อีก
นอกจากนั้นยังมีเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ลุงทองเหมาะเล่าให้ฟังว่า ขณะที่เขาพึ่งพาสารเคมีในการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากเขาทำลายผืนดินที่เขาทำกินแล้ว เขายังทำลายตัวเองไปด้วย เพราะร่างกายที่เคยแข็งแรงดูอ่อนล้าลงอย่างเห็นได้ชัด สุขภาพที่เคยดีกลับไม่มีเรี่ยวแรง เหตุเพราะสารเคมีที่ใช้ทุกวันสะสมในร่างกายอย่างไม่รู้ตัว และเมื่อลุงเริ่มไม่ค่อยสบายจากปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารเคมีที่ใช้ตกค้างในร่างกาย จึงคิดทบทวนตัวเอง และเกิดความคิดขึ้นมาว่า หากต้องพึ่งพาสารเคมีในการผลิตสินค้าเกษตร ต้องลำบากเป็นแน่เพราะ ยิ่งทำยิ่งจน ต้นทุนสูง ไม่ใช่เฉพาะสินค้าเกษตรที่ผลิตออกมา แต่มันหมายถึงต้นทุนชีวิตของลุงด้วย จากนั้นจึงได้คิดที่จะไม่ใช้สารเคมี โดยได้ยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแนวคิดด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง คุณลุงทองเหมาะจึงหันหลังให้กับสารเคมี หันมาทำนาข้าวอินทรีย์ ใช้จุลินทรีย์และสารชีวภาพทดแทน ขณะเดียวกันก็คิดค้นหาวิธีการทำนาให้ได้ผลผลิตมากขึ้น รวมทั้งพยายามที่จะคิดค้นดัดแปลงเครื่องจักร เครื่องมือการเกษตรให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ และในช่วง 1 ปีผ่านไป ก็เห็นว่าแนวทางที่ทำมาถูกทาง เพราะข้าวที่ปลูกได้ผลดีกว่าที่คาดไว้ ขณะเดียวกันสุขภาพที่เคยมีปัญหาก็กลับมาแข็งแรงดังเดิม
“ตอนนี้เตะปี๊บดังไกล 3 บ้าน” ลุงทองเหมาะพูดไปยิ้มไป พร้อมกลับเล่าว่า เมื่อชาวบ้านละแวกนั้นเห็นก็เข้ามาถามว่าทำอย่างไร ลุงได้แนะนำให้เขารู้ และเขาก็นำไปปฏิบัติ จากนั้นได้มีการเล่าต่อ ๆกัน จึงมีคนเข้ามาขอเรียนรู้มากขึ้น และได้แนะนำไปตามมีตามเกิด จนตอนนี้มีคนมาขอเรียนรู้งานมากกว่าวันละ 100 ถึง 200 คน บางคนก็มาเอง บางคนหน่วยงานราชการพามา โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่คนตกงานมาจากภาคอุตสาหกรรม ก็มามากขึ้น บางวันก็มากจนรับไม่ไหว แต่ไม่เป็นไร เพราะเขาเต็มใจมาเรียนรู้
ทางรอดของเกษตรกรคือเราต้องทำอย่างไรให้ต้นทุนเราน้อยที่สุด โดยเราต้องไม่ใช้สารเคมีและต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน เมื่อเราลดต้นทุนของเราได้ ถึงแม้ราคาสินค้ามันจะถูกเราก็ขายได้ อยู่ได้ แต่หากราคามันสูงเราก็ได้เงินมากขึ้น อย่าไปคิดมาก เพราะเราไม่ใช่ผู้กำหนดราคา เมื่อเรากำหนดราคาไม่ได้ เราต้องลดต้นทุน ให้เราอยู่ได้ เศรษฐกิจพอเพียงคือสิ่งที่ผมยึดถือและปฏิบัติมาตลอด ทำทุกอย่างที่ลดต้นทุน
นั่นคือแนวคิดของลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ชาวนาจากเมืองสุพรรณบุรี
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เกษตรกรรุ่นใหม่ไม่จน 1ไร่เลี้ยงตัวได้ยั่งยืน


เกษตรพอเพียงเกษตรกรรุ่นใหม่ไม่จน 1 ไร่เลี้ยงตัวได้ยั่งยืน

“ผมเติบโตมากับครอบครัวที่ทำไร่ทำนา ชอบอาชีพเกษตรกร อยากเป็นเกษตรอำเภอ จึงตัดสินใจมาเรียนเกี่ยวกับการทำเกษตร เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านอนุรักษ์อาชีพของบรรพบุรุษที่ทำมาแต่ดั้งเดิมเป็นเสมือนหม้อข้าวของคนไทย


เกษตรพอเพียง 1 ไร่  ที่นับวันจะเหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ที่ยังทำอาชีพเกษตร เพราะวัยรุ่นไทยในปัจจุบันให้ความสนใจเรียนเกี่ยวกับการทำเกษตรจำนวนน้อย เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่ลำบาก” “น้องหยัด” ประหยัด เปลืองพรหม อายุ 18 ปี นักศึกษา ปวช. ปี 3 สาขาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น กล่าว

 น้องหยัด เป็นเด็กไทยหัวใจเกษตรหนึ่งในนักศึกษาผู้รับผิดชอบโครงการ 1 ไร่ไม่จน อธิบายว่าโครงการ 1 ไร่ ไม่จน เกษตรรูปแบบใหม่ จำลองแปลงสาธิตการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่จำกัด 1 ไร่ ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่ง บุญช่วย ศรีเกษ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น ต้องการส่งเสริมให้เด็กไทยหันมาสนใจอาชีพการทำเกษตรกรรม และปลูกฝังให้เยาวชนเกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการทำการเกษตรแบบพอเพียงไปพัฒนาอาชีพในท้องถิ่นของตัวเอง จึงเน้นให้นักศึกษาลงมือปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ให้เป็นก่อน ไม่ใช่เรียนแต่หลักของทฤษฏี ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการทำการเกษตร สำหรับประชาชนที่มีที่ดินไม่มากและปลูกฝังให้ประชาชนรู้จักการทำมาหากิน การทำการเกษตรแบบผสมผสานสามารถสร้างรายได้ให้ประชาชน เพราะเป็นการประกอบอาชีพที่มีต้นทุนต่ำ

น้องหยัด เสริมว่า โครงการ 1 ไร่ ไม่จน เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สอนให้เป็นคนมีความรับผิดชอบและมีความอดทน เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อมารดน้ำผัก พรวนดินต้นไม้ และให้อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นเหมือนการเรียนชั่วโมงแรกของวัน จากนั้นตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของพืชผักและสัตว์เลี้ยงต่างๆ เก็บข้อมูลเพื่อนำไปศึกษาตามทฤษฎีและนำมาประยุกต์ใช้กับการลงมือปฏิบัติจริง
พื้นที่ทำเกษตร 1 ไร่ สามารถปลูกพืชไร่ พืชผักสวนครัว ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ โดยเน้นวิธีแบบธรรมชาติ เช่น การเลี้ยงสุกรในคอกแกลบ ใช้ทำปุ๋ยคอกจากการมูลสัตว์ นำไปใช้ในการปลูกพืชผักแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นพืชผลปลอดสารพิษและลดต้นทุนการผลิต การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการเผาถ่าน เพื่อใช้เป็นยาฆ่าศัตรูพืชแบบธรรมชาติ
เช่นเดียวกับ “น้องบี” สุนันทา นารี อายุ 16 ปี นักศึกษาปวช. ปี 1 สาขาเกษตรทั่วไป เล่าว่าการได้ลงมือทำจะสนุกกับการทำงาน แม้บางครั้งรู้สึกเหนื่อยล้าบ้าง เพราะงานการเกษตรต้องอาศัยความอดทนและความใจเย็น ให้พืชผลเจริญเติบโต เช่น เริ่มตั้งแต่การปลูกพืชผักสวนครัวควรมีการดูแลอย่างไร การรดน้ำใส่ปุ๋ยควรเป็นช่วงเวลาไหน การเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร
ด้าน คำนึง หนูดาษ อาจารย์วิทยชำนาญการ คณะสัตวศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า ดำเนินโครงการมาเกือบ 1 ปี ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเข้าร่วมทำกิจกรรมจำนวนมาก อนาคตจะพัฒนาไปสู่การเรียนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบครบวงจร เป็นการสร้างรายได้ให้อาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.) ครั้งที่ 31 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น โดยในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานงาน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ด้วย
ซึ่ง “โครงการ 1 ไร่ ไม่จน เป็นหนึ่งในกิจกรรมการจัดแสดงความก้าวของเกษตรกรรมไทย มีนิทรรศการเพื่อพัฒนาการเกษตรของนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 49 แห่งทั่วประเทศ สนใจเข้าชมเกษตรรูปแบบใหม่ได้ สอบถามข้อมูลโทร.0-4328-9193, 0-2281-5555 ต่อ 1009, 1010 หรือ www.vec.go.th

ที่มา : http://www.komchadluek.net

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Facebook Themes