วิถีที่พอเพียง ทางเลือกชาวบ้านดอกแดง


วิถีที่พอเพียง ทางเลือกชาวบ้านดอกแดง

เทศบาลตำบลสง่าบ้าน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีการบริหารงานครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ 1) ตำบลสง่าบ้าน มีพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 2,167 คน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะกับการเพาะปลูก ทำนา คนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา เลี้ยงโค 2) ตำบลป่าลาน เป็นตำบลที่ยุบสภาตำบลป่าลานรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลสง่าบ้าน เมื่อปี พ.ศ.2547 มีพื้นที่ประมาณ 1,912 ไร่ ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด 1,990 คน พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะกับการเพาะปลูก ทำนา คนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา แต่ต้องเช่าที่จากนายทุน หลังจากที่นายทุนกว้านซื้อที่นาไปในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ปี 2534

วิถีพอเพียงชาวบ้านดอกแดง

วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ นำไปสู่วิกฤตของชุมชน เกษตรกรต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการทำนา เนื่องจากต้องซื้อปุ๋ยเคมี และสารเคมีเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งมีต้นทุนสูง ส่งผลให้ระบบนิเวศรอบตัวเกษตรกร เริ่มเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ จากการปนเปื้อนของสารเคมี สัตว์เลี้ยงและสิ่งมีชีวิตในนาข้าวต้องตายลงจากสารเคมี ขณะที่เกิดโรคระบาดในนาข้าว ดินเสื่อมลงจากการใช้สารเคมี ในน้ำไม่มีปลา ในน้ำไม่มีข้าวเหมือนในอดีต ประกอบกับการรับวัฒนธรรมวัตถุนิยมเข้าไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้วิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชุมชนทั้งตำบลสง่าบ้านและตำบลป่าลาน จึงได้รวมกันเป็น กลุ่มเพื่อการผลิตเกษตรอินทรีย์ในหมู่บ้านดอกแดง เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยการถอดบทเรียนในพื้นที่ เปรียบเทียบสถานการณ์ในอดีตกับปัจจุบัน จนเห็นว่า ภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพและการทำมาหากินในชุมชนดั้งเดิมกำลังถูกลืมเลือนไป ด้วยคำว่า ง่ายและรวดเร็วดังการหันหน้าไปพึ่งสารเคมีในการเพาะปลูกทดแทนวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม และตั้งใจว่า จะนำชุมชนไปสู่วิถีการผลิตแบบดั้งเดิม หรือวิถีการผลิตแบบผสมผสาน เพื่อลดการใช้สารเคมี สร้างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ดังพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการเดินทางสาย หรือการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
ในการรวมกลุ่มเพื่อการผลิตเกษตรอินทรีย์ของชุมชนบ้านดอกแดง ตำบลสง่าบ้าน อำเภอดอยสะเก็ด ช่วงเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในโครงการ SML จำนวน 200,000 บาท ร่วมกับการรวมหุ้น การออม เพื่อกระตุ้นการผลิต และการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน จนชาวบ้านดอกแดงเริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการใช้จ่ายอย่างถูกวิธี รู้จักการเก็บออม และมีการทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

กลุ่มการผลิตบ้านดอกแดงดังกล่าว มีทั้งสิ้น 12 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (ปุ๋ยอินทรีย์-น้ำหมักชีวภาพ น้ำส้มจากควันไม้) กลุ่มรถเก็บเกี่ยวข้าว กลุ่มโรงสีข้าว กลุ่มข้าวซ้อมมือ กลุ่มผักปลอดสารพิษ พืชสวนครัวรั้วกินได้ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มจักสาน และกลุ่มเยาวชนดนตรีพื้นเมือง ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มต่างมีจุดมุ่งหมายของตนเองในการรวมตัวกัน มีการบริหารจัดการโดยใช้วัสดุและเวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตามคำแนะนำของกลุ่มองค์กร หน่วยงานภาครัฐ ที่เข้าไปหนุนเสริมตลอดเวลา

กลุ่มเกษตรกรทำนา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยการตั้งกลุ่มทำนาแบบธรรมชาติจากการร่วมระดมของคนในหมู่บ้าน ให้เป็นกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และยกระดับเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ช่วยลดต้นทุนการผลิต ช่วยต่อรองราคาค่าจ้างและผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง โดยมีเงินหมุนเวียนในระยะแรกเป็นจำนวนเงิน 10,500 บาท สำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ให้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ต่อมาได้จดทะเบียนนิติบุคคลในชื่อว่า กลุ่มทำนาตำบลสง่าบ้านปัจจุบัน มีสมาชิก 105 คน เงินทุนหมุนเวียน 149,857 บาท

กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2547 มีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 16 คน จนปัจจุบันมีสมาชิก 106 คน โดยมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งดังนี้ 1) เพื่อ ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาประกอบอาชีพการเกษตรแบบอินทรีย์ 2) เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพการเกษตร โดยลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรจากการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง 3) เพื่อแก้ไขปัญญาการว่างงาน โดยการจ้างแรงงานในพื้นที่ 4) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชุมชน สำหรับผู้มีรายได้น้อยและไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จปฐ. 5) เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป 6) เพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน

กลุ่มรถเก็บเกี่ยวข้าว สืบเนื่องจากการจัดตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพ และได้ดำเนินการผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในการเกษตรตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นมา ทำให้กลุ่มมองต่อถึงความสำคัญของวิทยาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ที่มีผลต่อการสูญเสียผลผลิตข้าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาการเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้า จากการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร และรถเก็บเกี่ยวข้าวเข้าไปรับจ้างเก็บเกี่ยวในเวลาที่ไม่สมควร จึงเกิดการพิจารณาโครงการจัดชื้อรถเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บเกี่ยวผลผลิต ลดปัญหาการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร ช่วยกระจายรายได้จากการจ้างงาน

กลุ่มโรงสีข้าว จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชน โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรโดยการแปรรูปผลผลิตข้าว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการผลิตข้าวขาวและข้าวอินทรีย์ชีวภาพ ช่วยให้เกิดการจ้างงานในหมู่บ้านด้วยกิจกรรมโรงสีข้าว หวังเสริมสร้างความสามัคคี จากการทำงานเป็นทีมของชุมชน รวมทั้ง เชื่อมโยงด้วยโครงการทำปุ๋ยชีวภาพ และโครงการจัดซื้อรถเกี่ยวข้าว เนื่องในวโรกาสฉลองการครองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ตลอดจนให้บริการสีข้าวแก่สมาชิกชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ

กลุ่มข้าวซ้อมมือ เกิดขึ้นจากการเห็นความสำคัญของข้าว ที่เป็นอาหารหลักของคนไทย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ด้วยกระบวนการผลิตทำให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการไปอย่างมาก จึงเห็นร่วมกันให้นำมาผลิตเป็นข้าวซ้อมมือ เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการให้มากที่สุด ให้อุดมด้วยวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในชุมชน เสริมสร้างรายได้ ส่งเสริมสุขภาพ และเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้


กลุ่มแม่บ้าน เริ่มจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของกลุ่มสตรีแม่บ้าน เพื่อดำเนินกิจกรรมทางศาสนาของวัดและกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้าน เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ต่อมาได้ร่วมกันผลิตสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น นำยาล้างจาน และน้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว และจัดจำหน่าย เพื่อเป็นรายได้เสริมของกลุ่มแม่บ้าน

กลุ่มผู้สูงอายุ แต่เดิมมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในรูปศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้านเดิม ต่อมาพัฒนาเป็นชมรมผู้สูงอายุบ้านดอกแดง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมกลุ่มกันออกกำลังกายในตอนเช้า ในรูปแบบของการรำมวยจีน กระบี่กระบอง และรำพัด ต่อมาได้มีการร่วมกันจักสานหวาย เพื่อสร้างรายได้และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ตั้งอยู่ที่อาคารโรงเรียนดอกแดงรัฐราษฎรอุปถัมภ์ มีสมาชิกทั้งหมด 16 คน มีผู้ถือหุ้น 25 คน จำนวน 400 หุ้นๆ ละ 10 บาท แรกเริ่มเดิมที นางศรีพรรณ แก้วตา ประธานกลุ่ม ประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ามาก่อนในรูปอุตสาหกรรมในครัวเรือน ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น รองเท้าใส่ในบ้าน เบาะรองนั่ง ที่นอนปิกนิก ผ้าเช็ดมือ ผ้ากันเปื้อน เป็นต้น ผ่านไป 16 ปี ต้องประสบกับปัญหาสุขภาพไม่แข็งแรง ประกอบกับความต้องการให้เพื่อนบ้านมีรายได้เสริม สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัว และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านเป็นกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า การดำเนินงานในระยะแรกยังขาดแคลนเครื่องจักร อุปกรณ์และวัตถุดิบในการผลิต เช่น จักรอุตสาหกรรม จักโพล้ง เครื่องตัด แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลสง่าบ้าน (ยกระดับเป็นเทศบาลในภายหลัง) จำนวน 30,000 บาท เพื่อจัดซื้อจักรอุตสาหกรรม จำนวน 4 หลัง จักรโพล้ง 1 หลัง ปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจ้างทำเป็นรายชิ้น ตามแบบที่ทำขึ้น

นอกเหนือจากตัวอย่างกลุ่มต่างๆ ดังกล่าว บ้านดอกแดงยังเป็น ศูนย์ยุติธรรมนำร่อง จากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 23 กันยายน โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อให้ผู้นำชุมชนเข้าใจถึงความหมายและวิธีการดำเนินการของยุติธรรมชุมชน 2) เพื่อให้คนในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสันติสุข 4) เพื่อเสริมสร้างความรู้ พัฒนาอาชีพของคนในชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และป้องกันยาเสพติด

ปัจจุบันชุมชนบ้านดอกแดงเป็นชุมชนตัวอย่าง และชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จากการบริหารการจัดการที่เป็นระบบ มีการนำเอาทรัพยากรในท้องถิ่นมาปรับใช้ในการผลิต สร้างรายได้ ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน รวมทั้งมีการฟื้นสภาพสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ขึ้น ตลอดจน ได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ

รางวัลชนะเลิศ หมู่บ้านเข้มแข็ง สุขภาพแข็งแรง แบบมีส่วนร่วม ระดับอำเภอ ประจำปี 2549และ 2550

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 การประกวดข้าวหอมมะลิ จังหวัดเชียงใหม่ 2548/49

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 การประกวดข้าวหอมมะลิ จังหวัดเชียงใหม่ 2538/39

รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุขประจำปี 2551 (รองชนะเลิศอันดับ 2)

รางวัลหมู่บ้านและชุมชนดีเด่น ตามโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชน (SML) ปี 2548

จากความสำเร็จดังกล่าว เทศบาลตำบลสง่าบ้านจึงได้จัดซื้อที่ดินให้กับ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านดอกแดง จำนวน 3 ไร่ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมแหล่งผลิตกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอดอยสะเก็ด และในอนาคตภาคส่วนต่างๆ จะร่วมกันพัฒนาให้เป็น ศูนย์การเรียนรู้ที่ครบวงจรและเป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์การศึกษาของคนทั้งตำบล เป็นพื้นที่เอกลักษณ์ที่สื่อถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น การนำเอาทรัพยากรในชุมชนมาใช้ให้ประโยชน์ การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ตลอดจนสามารถขยายฐานความรู้ไปในระดับอำเภอและจังหวัด และสามารถสร้างฐานเศรษฐกิจจากการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น

นับได้ว่า บ้านดอกแดง เริ่มจากฐานการทำงานภายใต้ระบบเครือญาติ โดยเอาปัญหาเรื่องปากท้องมาเป็นปัญหาหลักภายในชุมชน แล้วค่อยๆ ช่วยเหลือกันมาตามความสมัครใจ จนสามารถเป็นแบบอย่างของการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีของการอยู่อย่างพอเพียงได้


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Facebook Themes