แปรรูป 'น้ำว่านหางจระเข้' สร้างเงิน โอท็อป 5 ดาวฝีมือชาวบ้านหลักสอง

เกือบ 20 ปีที่ชาวบ้านในตำบลหลักสอง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ได้รวมกลุ่มแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตกต่ำ ด้วยการนำแปรรูปเพิ่มมูลค่า โดยไม่ง้อพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป โดยเฉพาะว่านหางจระเข้นั้น ถือผลผลิตทางการเกษตรที่ชาวบ้านปลูกกันมากไม่แพ้ไม้ผลชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวน้ำหอม มะม่วง ฝรั่ง ลำไย หรือกล้วยหอมทอง


แต่ทว่าว่านหางจระเข้ กลับเป็นผลผลิตตัวเดียวที่มีปัญหา เนื่องจากมีปริมาณที่มากเกินความต้องการของตลาด ส่งผลให้พ่อค้าปฏิเสธการรับซื้อหรือซื้อได้ในราคาต่ำกว่าควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวบ้านจึงคิดหาทางออกด้วยการรวมกลุ่มแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำว่านหางจระเข้ขึ้นเมื่อปี 2539 หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 โดยเริ่มจากสมาชิกเพียง 4-5 คนมาทำการแปรรูปภายใต้ยี่ห้อ "เพชรน้ำหนึ่ง"

"นอกจากไม้ผลแล้ว ว่านหางจระเข้ก็เป็นพืชอีกชนิดที่ชาวบ้านปลูกกันมาก เพราะจะใช้พื้นที่ปลูกไม่มาก แค่งานสองงาน บางรายก็ 1-2 ไร่แล้วแต่ใครมีพื้นที่มากน้อยแค่ไหน บางคนก็ปลูกตามรั้วบ้าน เพราะเป็นพืชที่ใม่ใช่ทำรายได้หลัก ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากการปลูกไม้ผล บ้านแพ้วถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีเขียว ที่นี่จึงเต็มไปด้วยสวนไม้ผลชนิดต่างๆ เต็มไปหมด"

สุดาทิพย์ มีแสงเงิน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านหลักสอง ต.หลักสอง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำว่านหางจระเข้สำเร็จรูปบรรจุขวด ยี่ห้อ "เพชรน้ำหนึ่ง" การันตีด้วยรางวัลผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ดาวปีล่าสุด (2556) ย้อนอดีตที่มาก่อนจะเป็นน้ำว่านหางจระเข้สำเร็จบรรจุขวดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่มเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท

สุดาทิพย์ เล่าว่า ในระยะแรกจะทำกันเองในหมู่มวลสมาชิก โดยได้รับการสนับสนุนจาก กศน.สมุทรสาคร ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกอบรมให้ จากนั้นก็ฝึกทดลองทำ ลองผิดลองถูก จนได้รสชาติเป็นที่พอใจก็เริ่มทดลองจำหน่ายกันเองในชุมชน ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมาก จากนั้นก็มีหน่วยราชการต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทสาคร มาดูแลเรื่องการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชนเข้ามาส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สาธารณสุขจังหวัดก็มาดูในเรื่อง อย. ส่วนธ.ก.ส.ก็สนับสนุนในเรื่องแหล่งทุน

"กลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสากิจชุมชนเมื่อปี 2548 เริ่มมีหน่วยราชการต่างๆ เข้ามาดูแลให้คำปรึกษาแนะนำและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งพาไปศึกษาดูงาน จัดสรรงบประมาณก่อสร้างโรงงานผลิต ตรวจสอบขั้นตอนการผลิตตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงมือผู้บริโภค จะต้องได้คุณภาพและมาตรฐานในทุกขั้นตอนการผลิต"

ประธานกลุ่มคนเดิมแจงรายละเอียดถึงขั้นตอนการผลิต โดยเริ่มจากรับซื้อว่านหางจระเข้จากสมาชิกในเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 120 รายในราคากิโลกรัมละ 4 บาท โดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2-3 ก้านต่อกิโลกรัม จากนั้นนำมาล้างทำความสะอาด ก่อนนำไปปอกเปลือกออกเหลือแต่เนื้อว่านหางจระเข้ มีสีขาวใส เสร็จแล้วก็นำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ ด้วยเครื่องหั่น ก่อนจะนำมาล้างทำความสะอาดอีกครั้งแล้วนำไปลวกในน้ำเดือดที่ 80-100 องศาเซลเซียส แล้วใช้ตะแกรงตักขึ้นมาใส่ลงในน้ำเชื่อมที่เตรียมเอาไว้ ก่อนนำไปบรรจุขวด จากนั้นก็สู่ขั้นตอนการน็อกดาวน์ด้วยความเย็น-50 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนนำมาจำหน่ายหรือส่งให้ลูกค้าต่อไป

"ถ้าเราอยากได้รสชาติอะไรก็ใส่น้ำอันนั้นผสมลงไปในน้ำเชื่อม ซึ่งตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของเรามีอยู่หลายรสชาติ น้ำใบเตยถือเป็นรสชาติดั้งเดิมที่เริ่มทำมาตั้งแต่แรก ถึงวันนี้ก็ยังได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีน้ำเก๊กฮวย น้ำองุ่น น้ำอัญชัญและน้ำมะนาวที่ปัจจุบันเราผลิตส่งให้ลูกค้า ส่วนตลาดมีทั้งผลิตเป็นน้ำว่านสำเร็จรูปส่งให้ลูกค้าไปปิดยี่ห้อเอง  ส่วนที่กลุ่มผลิตและขายเองจะใช้ยี่ห้อ "เพชรน้ำหนึ่ง" มีวางขายตามร้านเซเว่น หรือตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป"

สุดาทิพย์ย้ำด้วยว่า น้ำว่านหางจระเข้บรรจุขวดสำเร็จรูปของกลุ่มเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขสภาพไม่ใส่สารกันบูด จะมีอายุการเก็บรักษาไม่เกินสองสัปดาห์  โดยสนนราคาส่งจำหน่ายขวดละ 8 บาท มีน้ำหนัก 210 ซีซี หรือโหลละ 80 บาท ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมีการผลิตอยู่ที่ 1 หมื่นขวดต่อวัน ในขณะที่กำลังการผลิตเต็มที่อยู่ที่ 2 หมื่นขวดต่อวัน โดยการผลิตแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับออเดอร์ที่สั่งเข้ามาและวัตถุดิบในการผลิตเป็นหลัก

น้ำว่านหางจระเข้สำเร็จรูปบรรจุขวดของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านหลักสอง ต.หลักสอง อ.บ้านแพ้ว จ.สมทุรสาคร ไม่เพียงเป็นผลิตภัณฑ์เด่น การันตีด้วยรางวัลโอท็อป 5 ดาวเท่านั้น แต่เป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของผู้บริโภคที่สร้างงานสร้างรายได้ให้สมาชิกได้เป็นอย่างดี สนใจผลิตภัณฑ์เด่นติดต่อประธานกลุ่มโดยตรงโทร.08-9024-8295 ได้ตลอดเวลา

ไปหน้าแรก  เศรษฐกิจพอเีพียง


บทความโดย...สุรัตน์ อัตตะ

'ข้าวซ้อมมือ'บ้านบุหย่องสามัคคี จากภูมิปัญญาสู่คุณค่าโภชนาการ

อดีตผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมแหนบทองคำปี 2546 ที่ไม่ยอมทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ด้วยการรวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่บ้านบุหย่องสามัคคี ซึ่งมีอาชีพหลักในการทำนาหันมาแปรรูปข้าวซ้อมมือบรรจุถุงเพิ่มมูลค่า โดยไม่ง้อพ่อค้าคนกลางหรือโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลสำหรับ "อุบล ชะบาทอง" อดีตผู้ใหญ่บ้านที่ปัจจุบันผันตัวเองมารั้งตำแหน่งประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบุหย่องสามัคคี หมู่ 7 ต.เขาพระ อ.เมือง จ.นครนายก ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวซ้อมมือบรรจุถุงตราครกกระเดื่อง


"ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือการทำนาปลูกข้าว ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 แต่ที่ผ่านมาเจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำมาตลอด ขายไม่ได้ราคา ถูกพ่อค้า เจ้าของโรงสีกดราคา ก็เลยหาทางออกด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวซ้อมมือบรรจุถุงขายในนามกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบุหย่องสามัคคี เมื่อปี 2544 หรือกว่า 12 ปีมาแล้ว" อุบลย้อนที่มา

โดยเริ่มต้นจากสมาชิกเพียง 20 คนที่ลงทุนซื้อหุ้น หุ้นละ 100 บาท จากนั้นก็ได้รับการอนุเคราะห์จากหน่วยราชการต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือดูแล โดยเฉพาะ ธ.ก.ส.จังหวัดนครนายกได้เข้ามาสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์ข้าว กระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนดูแลในเรื่องการตลาดมาโดยตลอด ซึ่ง สกต.จ.นครนายกได้อนุเคราะห์ให้ผลิตภัณฑ์ข้าวซ้อมมือบรรจุถุงของกลุ่มไปวางจำหน่ายที่สำนักงานได้ ส่วนวิทยาลัยเทคนิคนครนายกได้สนุบสนุนเครื่องคัดแยกข้าวสารมาให้ด้วย

ประธานกลุ่มคนเดิมเผยอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 80 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 52,900 บาท ส่วนการดำเนินงานมีการบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันทำอย่างชัดเจน ตั้งแต่การหาซื้อวัตถุดิบ โดยจะรับซื้อจากสมาชิกเป็นอันดับแรก หากไม่เพียงพอก็จะหาซื้อจากเกษตรกรทั่วไปสนนในราคาเฉลี่ย 1.3-1.5 หมื่นบาทต่อเกวียน ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิตและจำหน่ายต่อไป

ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบุหย่องสามัคคีรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 10 กว่าเกวียนต่อปี จากนั้นนำไปแปรรูปเป็นข้าวซ้อมมือบรรจุถุง เริ่มจากถุงละ 5 กิโลกรัมแล้วเปลี่ยนมาเป็นถุงละ 2 กิโลกรัม เนื่องจากพกพาได้สะดวกกว่าและเหมาะเป็นของฝากของขวัญ สนนในราคาจำหน่าย(ราคาส่ง) ถุงละ 85 บาท ซึ่งขณะนี้ผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายอยู่ที่ร้านค้า สกต.นครนายก และกรุงเทพฯ อีกทั้งยังบริการจัดส่งในต่างจังหวัดตามที่ลูกค้าต้องการอีกด้วย

อุบลอธิบายถึงกระบวนากรผลิตข้าวซ้อมมือบรรจุถุงว่า หลังจากรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแล้วนำมาตากแดดประมาณ 3 แดด จากนั้นจึงนำมาเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกเสร็จแล้วก็นำมาคัดแยกเปลือกกับข้าวสาร จากนั้นก็นำมาเข้าตำด้วยครกกระเดื่อง ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีแล้วก็นำมาร่อนเอาแกลบออกแล้วนำข้าวสารที่ยังมีส่วนผสมกับข้าวเปลือกไปเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกอีกครั้ง ก่อนเข้ากระบวนการผลิตแบบเดิมอีกครั้งแล้วนำมาบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายต่อไป โดยข้าวซ้อมมือแต่ละถุงจะมีอายุไม่เกิน 2 เดือน

"ทุกอย่างจากข้าวเราจะนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด ข้าวก็นำมาบรรจุถุง ฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยวก็นำมามัดก้อนขาย แกลบก็นำไปเลี้ยงหมูหลุม ทำปุ๋ยอินทรีย์ รำข้าวก็นำไปเป็นอาหารเป็ด อาหารไก่ที่เลี้ยงไว้ แล้วจุดเด่นผลิตภัณฑ์อยู่ที่ครกกระเดื่องตำข้าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวนาในสมัยก่อนมาใช้ตรงนี้ จึงนำมาเป็นตราผลิตภัณฑ์ ตรงนี้เองที่ต่างจากกลุ่มผลิตข้าวกล้องอื่นที่ที่ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรในการผลิต ทำให้คุณค่าทางโภชนาการหายไป" ประธานกลุ่มคนเดิมกล่าวอย่างภูมิใจ

นับเป็นก้าวของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านบุหย่องสามัคคีในการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ในการผลิตข้าวซ้อมมือบรรจุถุง นอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้สมาชิกกลุม่แล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์เด่นการันตีด้วยรางวัลโอท็อป 4 ดาวของ จ.นครนายก ในปี 2554 อีกด้วย สนใจข้าวซ้อมมือหอมมะลิบรรจุถุงหรือต้องการศึกษาดูงานกรี๊งกร๊างมาที่ 08-9663-4206 ผู้ใหญ่อุบลยินดีต้อนรับตลอดเวลา



บทความโดย...สุรัตน์ อัตตะ

ปลูกมันสำปะหลังอย่างไรให้ได้ไร่ละ 30 ตัน

หากดูข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า การผลิตมันสำปะหลังในประเทศไทยฤดูกาลเพาะปลูกปี 21555/2556 ในพื้นที่  7.911 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 28.28 ล้านตัน ในปี 2557 คาดว่าจะได้ผลผลิต 28.75 ล้านตันจากพื้นที่ปลูก 7.98 ล้านไร่ เฉลี่ยได้ผลผลิตไร่ละ 3.5 ตัน แต่สำหรับมันสำปะหลังที่ปลูกในไร่ "สวนเขาใหญ่ เอฟเวอร์กรีน" ตั้งที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ของ "นิรันดิ์ชัย เกษบึงกาฬ" หรืออาจารย์น้อย ใช้กรรมวิธีระบบน้ำหยด ใช้ฮอร์โมนอาหารเสริม สามารถได้ผลผลิตถึงไร่ละ 30 ตัน 

ปลูกมันสำปะหลัง

นิรันดิ์ชัย บอกว่า การเกษตรนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ 4 อย่าง คือ หากดินดี กล้าพันธุ์ดี น้ำดี ดูแลดี เท่ากับมีชัยไปแล้วเกินครึ่ง อย่างมันสำปะหลังโดยทั่วไปจะปลูกได้ผลผลิตราว 3.5-5 ตันต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ แต่หากไร่มันที่ปลูกในสภาพที่ดินดี มีการนำกล้าพันธุ์ที่ดี จัดการระบบน้ำที่ดี และดูแลใส่ปุ๋ยที่ดีเหมาะกับสภาพดิน และเป็นไปตามที่พืชต้องการก็สามารถที่จะให้ผลผลิตเพิ่มได้ เพราะพืชเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง หากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ สุขภาพย่อมแข็งแรง แต่หากมีการเสริมอาหารที่เกินกว่า อาหารประจำยิ่งจะทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย การปลูกมันสำปะหลังก็เช่นกัน หากให้ฮอร์โมนอาหารเสริมก็จะได้ผลผลิตมากขึ้น อย่างที่ไร่ของเขาใช้ใช้ฉีดพ่น สารฮอร์โมนซูเปอร์ แม็กซ์ กรีน (SUPER MAX GREEN) ทางใบแบบละอองฝอยให้ทั่วแปลง ทำใให้ได้ผลผลิตไร่ละกว่า 30 ตัน

เจ้าของสวนเขาใหญ่ เอฟเวอร์กรีน บอกถึงวิธีการปลูกมันสำปะหลังที่ได้ไร่ละ 30 ตัน ว่า มีขั้นตอนง่ายๆ คือปรับปรุงดินโดยการใช้ปุ๋ยคอก จะเป็นขี้ไก่ ขี้วัว ขี้นกกระทา หากเป็นขี้ไก่ ขี้วัวใส่ 1 ตันต่อไร่ ส่วนขี้นกกระทาใช้ 600 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วแปลงแล้วไถกลบ จากนั้นฉีดพ่นด้วยสารระเบิดดินเอเวอร์กรีน ซอล (“Evergreen Sio)” ช่วยปรับโครงสร้างดินระเบิดดินด้าน ดินแข็งตัว และเพิ่มออกซิเจนในดิน จากนั้นไถแปรหรือตีดินให้ละเอียด แล้วยกร่องขนาดใหญ่ให้ได้ขนาด 1.20 เมตรต่อร่อง แล้วฉีดยาคุมหญ้า ป้องกันการงอกของวัชพืช

ขั้นตอนต่อมา ติดตั้งระบบน้ำ จะใช้ระบบสปริงเกลอร์ หรือระบบน้ำหยดก็ได้ในสวนของเขาใหญ่ เอฟเวอร์กรีนใช้ระบบน้ำหยด จากนั้นเตรียมท่อนพันธุ์ มันสำปะหลัง เกล็ดมังกรจัมโบ้เบอร์ 4 ด้วยการนำท่อนพันธุ์ไปแช่น้ำ อาหารเสริมสำหรับพืช แคปซูลนาโนผสมกรดไขมันพืชเข้มข้น ซูเปอร์ แม็กซ์ กรีน 1 แคปซูลละลายในน้ำ 60 ลิตรแล้วนำท่อนพันธุ์ลงแช่ในน้ำนาโนผสมกรดไขมันพืชนาน 2-4 ชั่วโมง แล้วนำท่อนพันธุ์ไปปลูก ส่วนน้ำแช่ท่อนพันธุ์นำไปฉีดพ่นทางใบกับพืชที่ปลูกไว้ในแปลงได้ทุกชนิด

วิธีการปลูกนำท่อนพันธุ์ที่แช่น้ำยานาโนผสมกรดไขมันพืช แล้วนำมาปักแบบตั้งตรง ลงไปในดินให้เหลือตากิ่งเพียง 2-3 ตาเท่านั้น ส่วนตาที่ปักลงดิน 3-4 ตาจะทำให้ลงหัวเป็นชั้นๆ ตามตาที่สมบูรณ์ ปลูกห่างกัน 1.20x1.20 เมตร หลังปลูกเสร็จแล้ว ให้เปิดน้ำหยด รดต้นมันนานประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากนั้นให้เปิดน้ำทุกๆ 15 วันหรือให้ดูความชื้นของดิน ถ้ามีความชื้นมากพอที่เปิดน้ำห่างกัน 20 วัน โดยเฉพาะฤดูฝน อาจจะไม่ต้องรดน้ำเลย สรุปการรดน้ำด้วยระบบน้ำหยดให้รดห่างกัน 15-20 วันต่อครั้ง ครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมง

หลังจากปลูกมันสำปะหลังไปได้ 2 อาทิตย์ จะเริ่มแตกยอดอ่อนและมีใบแท้ประมาณ 2-3 ใบ จะใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน ใบอ่อนจะเริ่มมีความสม่ำเสมอ ทั่วแปลง จนกว่าอายุจะได้ประมาณ 1 เดือน ให้ฉีดพ่น ซูเปอร์ แม็กซ์ กรีน ทางใบแบบละอองฝอยให้ทั่วแปลง จนอายุได้ 1 ปี 2 เดือน ให้ผลผลิตหัวที่ใหญ่สุดน้ำหนักถึง 60-70 กิโลกรัม หัวเล็กสุดได้น้ำหนัก 24 กิโลกรัม เฉลี่ยแล้ว 1 ไร่ จะได้ถึง 30 ตัน

สนใจปลูกมันสำปะหลังแบบฉบับสวนเขาใหญ่ เอฟเวอร์กรีน สอบถามได้ที่ นิรันดิ์ชัย โทร.08-1790-1924 หรือที่ บริษัทภูธร จำกัด โทร.09-4885-8575, 09-2438-2898

ไปหน้าแรก  เกษตรพอเพียง




ที่มา www.komchadluek.net บทความโดย ดลมนัส กาเจ

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Facebook Themes