'ข้าวซ้อมมือ'บ้านบุหย่องสามัคคี จากภูมิปัญญาสู่คุณค่าโภชนาการ

อดีตผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมแหนบทองคำปี 2546 ที่ไม่ยอมทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ด้วยการรวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่บ้านบุหย่องสามัคคี ซึ่งมีอาชีพหลักในการทำนาหันมาแปรรูปข้าวซ้อมมือบรรจุถุงเพิ่มมูลค่า โดยไม่ง้อพ่อค้าคนกลางหรือโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลสำหรับ "อุบล ชะบาทอง" อดีตผู้ใหญ่บ้านที่ปัจจุบันผันตัวเองมารั้งตำแหน่งประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบุหย่องสามัคคี หมู่ 7 ต.เขาพระ อ.เมือง จ.นครนายก ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวซ้อมมือบรรจุถุงตราครกกระเดื่อง


"ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือการทำนาปลูกข้าว ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 แต่ที่ผ่านมาเจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำมาตลอด ขายไม่ได้ราคา ถูกพ่อค้า เจ้าของโรงสีกดราคา ก็เลยหาทางออกด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวซ้อมมือบรรจุถุงขายในนามกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบุหย่องสามัคคี เมื่อปี 2544 หรือกว่า 12 ปีมาแล้ว" อุบลย้อนที่มา

โดยเริ่มต้นจากสมาชิกเพียง 20 คนที่ลงทุนซื้อหุ้น หุ้นละ 100 บาท จากนั้นก็ได้รับการอนุเคราะห์จากหน่วยราชการต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือดูแล โดยเฉพาะ ธ.ก.ส.จังหวัดนครนายกได้เข้ามาสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์ข้าว กระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนดูแลในเรื่องการตลาดมาโดยตลอด ซึ่ง สกต.จ.นครนายกได้อนุเคราะห์ให้ผลิตภัณฑ์ข้าวซ้อมมือบรรจุถุงของกลุ่มไปวางจำหน่ายที่สำนักงานได้ ส่วนวิทยาลัยเทคนิคนครนายกได้สนุบสนุนเครื่องคัดแยกข้าวสารมาให้ด้วย

ประธานกลุ่มคนเดิมเผยอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 80 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 52,900 บาท ส่วนการดำเนินงานมีการบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันทำอย่างชัดเจน ตั้งแต่การหาซื้อวัตถุดิบ โดยจะรับซื้อจากสมาชิกเป็นอันดับแรก หากไม่เพียงพอก็จะหาซื้อจากเกษตรกรทั่วไปสนนในราคาเฉลี่ย 1.3-1.5 หมื่นบาทต่อเกวียน ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิตและจำหน่ายต่อไป

ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบุหย่องสามัคคีรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 10 กว่าเกวียนต่อปี จากนั้นนำไปแปรรูปเป็นข้าวซ้อมมือบรรจุถุง เริ่มจากถุงละ 5 กิโลกรัมแล้วเปลี่ยนมาเป็นถุงละ 2 กิโลกรัม เนื่องจากพกพาได้สะดวกกว่าและเหมาะเป็นของฝากของขวัญ สนนในราคาจำหน่าย(ราคาส่ง) ถุงละ 85 บาท ซึ่งขณะนี้ผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายอยู่ที่ร้านค้า สกต.นครนายก และกรุงเทพฯ อีกทั้งยังบริการจัดส่งในต่างจังหวัดตามที่ลูกค้าต้องการอีกด้วย

อุบลอธิบายถึงกระบวนากรผลิตข้าวซ้อมมือบรรจุถุงว่า หลังจากรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแล้วนำมาตากแดดประมาณ 3 แดด จากนั้นจึงนำมาเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกเสร็จแล้วก็นำมาคัดแยกเปลือกกับข้าวสาร จากนั้นก็นำมาเข้าตำด้วยครกกระเดื่อง ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีแล้วก็นำมาร่อนเอาแกลบออกแล้วนำข้าวสารที่ยังมีส่วนผสมกับข้าวเปลือกไปเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกอีกครั้ง ก่อนเข้ากระบวนการผลิตแบบเดิมอีกครั้งแล้วนำมาบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายต่อไป โดยข้าวซ้อมมือแต่ละถุงจะมีอายุไม่เกิน 2 เดือน

"ทุกอย่างจากข้าวเราจะนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด ข้าวก็นำมาบรรจุถุง ฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยวก็นำมามัดก้อนขาย แกลบก็นำไปเลี้ยงหมูหลุม ทำปุ๋ยอินทรีย์ รำข้าวก็นำไปเป็นอาหารเป็ด อาหารไก่ที่เลี้ยงไว้ แล้วจุดเด่นผลิตภัณฑ์อยู่ที่ครกกระเดื่องตำข้าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวนาในสมัยก่อนมาใช้ตรงนี้ จึงนำมาเป็นตราผลิตภัณฑ์ ตรงนี้เองที่ต่างจากกลุ่มผลิตข้าวกล้องอื่นที่ที่ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรในการผลิต ทำให้คุณค่าทางโภชนาการหายไป" ประธานกลุ่มคนเดิมกล่าวอย่างภูมิใจ

นับเป็นก้าวของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านบุหย่องสามัคคีในการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ในการผลิตข้าวซ้อมมือบรรจุถุง นอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้สมาชิกกลุม่แล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์เด่นการันตีด้วยรางวัลโอท็อป 4 ดาวของ จ.นครนายก ในปี 2554 อีกด้วย สนใจข้าวซ้อมมือหอมมะลิบรรจุถุงหรือต้องการศึกษาดูงานกรี๊งกร๊างมาที่ 08-9663-4206 ผู้ใหญ่อุบลยินดีต้อนรับตลอดเวลา



บทความโดย...สุรัตน์ อัตตะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Facebook Themes