เกษตรกรรุ่นใหม่ไม่จน 1ไร่เลี้ยงตัวได้ยั่งยืน


เกษตรพอเพียงเกษตรกรรุ่นใหม่ไม่จน 1 ไร่เลี้ยงตัวได้ยั่งยืน

“ผมเติบโตมากับครอบครัวที่ทำไร่ทำนา ชอบอาชีพเกษตรกร อยากเป็นเกษตรอำเภอ จึงตัดสินใจมาเรียนเกี่ยวกับการทำเกษตร เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านอนุรักษ์อาชีพของบรรพบุรุษที่ทำมาแต่ดั้งเดิมเป็นเสมือนหม้อข้าวของคนไทย


เกษตรพอเพียง 1 ไร่  ที่นับวันจะเหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ที่ยังทำอาชีพเกษตร เพราะวัยรุ่นไทยในปัจจุบันให้ความสนใจเรียนเกี่ยวกับการทำเกษตรจำนวนน้อย เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่ลำบาก” “น้องหยัด” ประหยัด เปลืองพรหม อายุ 18 ปี นักศึกษา ปวช. ปี 3 สาขาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น กล่าว

 น้องหยัด เป็นเด็กไทยหัวใจเกษตรหนึ่งในนักศึกษาผู้รับผิดชอบโครงการ 1 ไร่ไม่จน อธิบายว่าโครงการ 1 ไร่ ไม่จน เกษตรรูปแบบใหม่ จำลองแปลงสาธิตการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่จำกัด 1 ไร่ ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่ง บุญช่วย ศรีเกษ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น ต้องการส่งเสริมให้เด็กไทยหันมาสนใจอาชีพการทำเกษตรกรรม และปลูกฝังให้เยาวชนเกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการทำการเกษตรแบบพอเพียงไปพัฒนาอาชีพในท้องถิ่นของตัวเอง จึงเน้นให้นักศึกษาลงมือปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ให้เป็นก่อน ไม่ใช่เรียนแต่หลักของทฤษฏี ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการทำการเกษตร สำหรับประชาชนที่มีที่ดินไม่มากและปลูกฝังให้ประชาชนรู้จักการทำมาหากิน การทำการเกษตรแบบผสมผสานสามารถสร้างรายได้ให้ประชาชน เพราะเป็นการประกอบอาชีพที่มีต้นทุนต่ำ

น้องหยัด เสริมว่า โครงการ 1 ไร่ ไม่จน เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สอนให้เป็นคนมีความรับผิดชอบและมีความอดทน เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อมารดน้ำผัก พรวนดินต้นไม้ และให้อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นเหมือนการเรียนชั่วโมงแรกของวัน จากนั้นตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของพืชผักและสัตว์เลี้ยงต่างๆ เก็บข้อมูลเพื่อนำไปศึกษาตามทฤษฎีและนำมาประยุกต์ใช้กับการลงมือปฏิบัติจริง
พื้นที่ทำเกษตร 1 ไร่ สามารถปลูกพืชไร่ พืชผักสวนครัว ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ โดยเน้นวิธีแบบธรรมชาติ เช่น การเลี้ยงสุกรในคอกแกลบ ใช้ทำปุ๋ยคอกจากการมูลสัตว์ นำไปใช้ในการปลูกพืชผักแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นพืชผลปลอดสารพิษและลดต้นทุนการผลิต การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการเผาถ่าน เพื่อใช้เป็นยาฆ่าศัตรูพืชแบบธรรมชาติ
เช่นเดียวกับ “น้องบี” สุนันทา นารี อายุ 16 ปี นักศึกษาปวช. ปี 1 สาขาเกษตรทั่วไป เล่าว่าการได้ลงมือทำจะสนุกกับการทำงาน แม้บางครั้งรู้สึกเหนื่อยล้าบ้าง เพราะงานการเกษตรต้องอาศัยความอดทนและความใจเย็น ให้พืชผลเจริญเติบโต เช่น เริ่มตั้งแต่การปลูกพืชผักสวนครัวควรมีการดูแลอย่างไร การรดน้ำใส่ปุ๋ยควรเป็นช่วงเวลาไหน การเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร
ด้าน คำนึง หนูดาษ อาจารย์วิทยชำนาญการ คณะสัตวศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า ดำเนินโครงการมาเกือบ 1 ปี ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเข้าร่วมทำกิจกรรมจำนวนมาก อนาคตจะพัฒนาไปสู่การเรียนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบครบวงจร เป็นการสร้างรายได้ให้อาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.) ครั้งที่ 31 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น โดยในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานงาน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ด้วย
ซึ่ง “โครงการ 1 ไร่ ไม่จน เป็นหนึ่งในกิจกรรมการจัดแสดงความก้าวของเกษตรกรรมไทย มีนิทรรศการเพื่อพัฒนาการเกษตรของนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 49 แห่งทั่วประเทศ สนใจเข้าชมเกษตรรูปแบบใหม่ได้ สอบถามข้อมูลโทร.0-4328-9193, 0-2281-5555 ต่อ 1009, 1010 หรือ www.vec.go.th

ที่มา : http://www.komchadluek.net

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

เป็นเนื้อหาที่ดีมากๆ เลยครับ

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Facebook Themes